การศึกษาขั้นพื้นฐาน กศน.
หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
สาระสำคัญ
การศึกษาพื้นฐานเป็นการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายนอกระบบโรงเรียนด้วยรูปแบบ วิธีการที่เหมาะสมและมีสาระหลักสูตรที่หลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้และทักษะพื้นฐานในการดำเนินชีวิต การทำงานและการศึกษาต่อเนื่อง ก่อให้เกิดชีวิตที่มั่นคงและสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยนัยดังกล่าวการศึกษาพื้นฐานจึงมีขอบเขตที่กว้างขวาง ครอบคลุมกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานที่กำหนดให้ผู้เรียนต้องได้รับการศึกษาตามที่หลักสูตรกำหนดไม่น้อยกว่า 12 ปี การจัดการศึกษาพื้นฐานจึงครอบคลุมเนื้อหาสาระ ตั้งแต่การส่งเสริมการรู้หนังสือ การศึกษาในหลักสูตรเทียบเท่าการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาต่อเนื่องที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างหลากหลาย รวมทั้งความรู้และทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ (Computer Literacy)
นโยบาย
จัดส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาพื้นฐานสำหรับกลุ่มเป้าหมายนอกระบบโรงเรียน โดยปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนและการเรียนรู้ การทำงานของครูผู้สอนและผู้จัดการศึกษา พัฒนาหลักสูตร สื่อการศึกษา และสถานศึกษา ตลอดจนเร่งพัฒนาการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อกลุ่มเป้าหมายได้รับการศึกษาที่เป็นพื้นฐานเพียงพอที่จะดำเนินชีวิตหรือเพื่อการศึกษาต่อเนื่อง
เป้าหมายสาธารณะ
กลุ่มเป้าหมายนอกระบบโรงเรียนได้รับโอกาสการศึกษาพื้นฐานตามความต้องการ และความสนใจอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง โดยจำแนกเป็นกลุ่มเป้าหมายดังนี้
1. ผู้ไม่รู้หนังสือ
2. ผู้ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน
แนวทางและมาตรการ
1. พัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอนการศึกษานอกโรงเรียน โดยเน้นรูปแบบการศึกษาแบบพบกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับจิตวิทยาผู้ใหญ่ ตลอดจนความแตกต่างและความต้องการของผู้เรียน
2. ส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาพื้นฐานเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการพัฒนาผู้เรียน และวิธีการเรียนการสอน ดังนี้
2.1 ผู้เรียน
- พัฒนาผู้เรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ของการเรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเกณฑ์ โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาสาระ และวิธีการเรียนรู้และบูรณาการเนื้อหาสาระ เช่น สาระวิชา คุณธรรม จริยธรรม จิตสำนึกสาธารณะ สุขภาพอนามัย การกีฬา ให้เข้ากับชีวิตจริง
2.2 วิธีการเรียนการสอน
- พัฒนาวิธีการเรียนการสอนการศึกษาพื้นฐาน โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มีการบูรณาการเนื้อหาเข้ากับวิถีชีวิตจริง ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ รวมถึงมีวิธีการทำงานแบบโครงการ
- ให้มีการตรวจสอบคุณภาพการศึกษาระดับชาติตามที่หลักสูตรกำหนด
- ผลิต และจัดหาสื่อการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อให้บริการในแหล่งการเรียนรู้แต่ละประเภทอย่างทั่วถึง
ตัวชี้วัด
1. เชิงปริมาณ
1.1 จำนวนผู้เรียน
1.2 จำนวนผู้รู้หนังสือ
1.3 จำนวนผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษา
1.4 จำนวนสื่อแต่ละประเภท
1.5 จำนวนครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพ
2. เชิงคุณภาพ
2.1 ผลการประเมินคุณภาพการศึกษา
2.2 อัตราการได้งานทำและการมีรายได้
2.3 ความพึงพอใจและการยอมรับของผู้ว่าจ้างงาน
2.4 ความพึงพอใจของการได้รับบริการสื่อ
2.5 ครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานที่กำหนด
โครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
โครงสร้างหลักสูตร ประกอบด้วย 5 สาระการเรียนรู้ ได้แก่
1.ทักษะการเรียนรู้
2.ความรู้พื้นฐาน
3.การประกอบอาชีพ
4.ทักษะการดำเนินชีวิต
5.การพัฒนาสังคม
แต่ละสาระประกอบด้วยรายวิชาบังคับและรายวิชาเลือก ตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ในโครงสร้างรายวิชาที่เลือกนั้นผู้เรียนสามารถ เลือกได้ตามความต้องการของตนเองและในการเรียนแต่ละระดับผู้เรียนต้องทำ กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) ไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง
จำนวนหน่วยกิตในแต่ละระดับ มีดังนี้
ระดับประถมศึกษา ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต
แบ่งเป็นวิชาบังคับ 36 หน่วยกิต และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิตให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคละไม่เกิน 14 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต
แบ่งเป็นวิชาบังคับ 40 หน่วยกิต และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 16 หน่วยกิตให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคละไม่เกิน 16 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต
แบ่งเป็นวิชาบังคับ 44 หน่วยกิต และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 32 หน่วยกิตให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคละไม่เกิน 20 หน่วยกิต
วิธีการจัดการเรียนรู้
วิธีการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จะมีวิธีเดียว คือ วิธีเรียน กศน. ที่ สามารถจัดการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ เช่น การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบทางไกล การเรียนรู้แบบชั้นเรียน และการเรียนรู้แบบอื่นๆซึ่งในแต่ละรายวิชา ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือหลายรูปแบบก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาด้วย กศน.เขตวัฒนาพร้อมจัดการเรียน 3 รูปแบบ
1. เรียนแบบพบกลุ่ม
2. เรียนแบบตนเอง
3. เรียนแบบทางไกล
เข้าชม : 631 |