[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

  
 
  สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในจังหวัดหนองคาย  

  นุสาวรีย์ปราบฮ่อ
       ต.ในเมือง อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย


 
 
       อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า เป็นที่บรรจุอัฐิของผู้ที่เสียชีวิตในการปราบกบฏฮ่อเมื่อปี ร.ศ. 105 (พ.ศ. 2429) ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า เป็นที่บรรจุอัฐิของผู้ที่เสียชีวิตในการปราบกบฏฮ่อเมื่อปี ร.ศ. 105 (พ.ศ. 2429) เสด็จในกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมซึ่งเป็นแม่ทัพปราบกบฏฮ่อในครั้งนั้น รับสั่งให้สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนความดีของผู้ที่ได้เสียสละชีวิตเพื่อชาติบ้านเมือง ที่อนุสาวรีย์ทั้ง 4 ทิศ มีคำจารึกภาษาไทย จีน ลาว และอังกฤษ มีการจัดงานบวงสรวงและฉลองอนุสาวรีย์ในวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี 

  วัดโพธิ์ชัย
       ต.ในเมือง อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย

   
 
       วัดโพธิ์ชัย เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนโพธิ์ชัย ใตเขตเทศบาลเมือง เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านของชาวเมืองหนองคาย หลวงพ่อพระใสเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก มีลักษณะงดงาม ตามตำนานเล่าว่า พระธิดา 3 องค์ของกษัตริย์ล้านช้างได้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์และขนานนามพระพุทธรูปตามพระนามของตนเอง คือ พระเสริมประจำพี่ใหญ่ พระสุกประจำคนกลางและพระใสประจำน้องคนสุดท้อง เดิมประดิษฐานที่เวียงจันทน์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสามลงเรือข้ามฝั่งมายังเมืองหนองคาย แต่เกิดพายุพัดพระสุกจมน้ำหายไป ส่วนพระเสริมและพระใสได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่หนองคาย จนในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงได้อัญเชิญพระเสริมลงมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ส่วนพระใสยังคงประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย ทุกปีในวันเพ็ญกลางเดือน 7 ชาวเมืองหนองคายจะมีงานประเพณีบุญบั้งไฟบูชาพระใสที่วัดโพธิ์ชัยเป็นประจำ 

  สะพานมิตรภาพไทย - ลาว
       บ้านเหล่าจอมมณี ต.มีชัย อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย


 
       สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงไปจากอำเภอเมืองหนองคายไปยังเมืองท่าเดื่อ ของ สปป.ลาว ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเวียงจันทน์ประมาณ 20 กิโลเมตร สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือของ 3 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ลาว และไทย นับว่าเป็นสะพานที่สร้างความสัมพันธ์ไทย-ลาว ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นักท่องเที่ยวทั่วไปที่ต้องการเดินทางจากหนองคายไปเวียงจันทน์ จำเป็นต้องใช้สะพานแห่งนี้ ตัวสะพานมีความยาว 1,137 เมตร กว้าง 12.7 เมตร มีช่องสำหรับเดินรถ 2 ช่องทาง ซึ่งตรงช่วงกลางสะพานออกแบบไว้สำหรับสร้างทางรถไฟ เชิงสะพานมีด่านตรวจคนเข้าเมือง 

             การเดินทางท่องเที่ยวประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางด้วยตัวเอง หรือใช้บริการนำเที่ยวจากบริษัทนำเที่ยวที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ด่านจะเปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-22.00น.

  พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจังหวัดหนองคาย
       พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจังหวัดหนองคาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต.หนองกอมเกาะ อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย






 

     

  พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจังหวัดหนองคาย
 เป็นสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ที่จัดแสดงพันธุ์ปลาต่างๆ ทั้งปลาน้ำจืดและปลาน้ำเค็ม ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการตามมติ ครม. ครั้งที่ 44/2546 (นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2546 เพื่อตอบสนองต่อเป้าประสงค์ในการเป็นศูนย์กลางการศึกษา การวิจัยด้านการประมง การรวบรวมพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำโขง ตลอดจนการจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำในมิติของการบูรณาการ และตอบสนองในการเป็นเมืองท่องเที่ยว เริ่มการก่อสร้างเมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 และแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 เริ่มทดลองเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2552

วัตถุประสงค์ของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหนองคาย

  • เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมและแสดงพันธุ์สัตว์น้ำของเขตภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งพันธุ์ปลาน้ำจืด พันธุ์ปลาน้ำเค็ม และพันธุ์ไม้น้ำ โดยเฉพาะพันธ์ปลาในแม่น้ำโขง
  • เพื่อเป็นศูนย์กลางของแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสัตว์น้ำของภูมิภาคอีสานตอนบน
  • เพื่อเป็นศูนย์กลางของการวิจัยพันธุ์สัตว์น้ำ การประมง และระบบนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำ ในเขตภูมิภาคอีสานตอนบน

  ศาลาแก้วกู่
       บ้านสามัคคี ต.หาดคำ อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย


 
       ศาลาแก้วกู่ หรือที่รู้จักกันในนามวัดแขก ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองหนองคาย 3 กิโลเมตร ตามเส้นทางไปอำเภอโพนพิสัยอยู่ด้านขวามือ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของพุทธมามกะสมาคมจังหวัดหนองคาย สถานที่ซึ่งคล้ายพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแสดงรูปปั้นทางศาสนาแห่งนี้ เกิดจากแรงบันดาลใจของหลวงปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ ซึ่งได้สร้างสถานที่แห่งนี้เมื่อราวปี พ.ศ. 2521 ตามความเชื่อว่าหลักคำสอนทุกศาสนาสามารถนำมาผสมผสานได้ งานปั้นอันใหญ่โตอลังการนี้มีทั้งพระพุทธรูปปางต่างๆ รูปเทพฮินดู รูปปั้นเกี่ยวกับศาสนคริสต์ รูปปั้นเล่าเรื่องรามเกียรติ์ และตำนานพื้นบ้าน เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 08.00-18.30 น. ค่าเข้าชม 10 บาท

  พระธาตุบังพวน
       วัดพระธาตุบังพวน บ้านดอนหมู ต.พระธาตุบังพวน อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย





 
       พระธาตุบังพวน เป็นเจดีย์เก่าแก่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่เคารพสักการะของชาวหนองคายมาช้านาน ตัวองค์พระธาตุเดิมสร้างด้วยอิฐเผา ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่น เป็นสถูปแบบอินเดียรุ่นเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมาได้พังทลายลงเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2513 เนื่องจากฐานทรุด เจดีย์องค์ปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร เป็นรูปปรางค์สี่เหลี่ยมต่อกันเป็นบัวปากระฆัง มีฐานทักษิณ 5 ชั้น กว้าง 17.20 เมตร ชั้นที่ 6 เป็นรูประฆังคว่ำ ชั้นที่ 7 เป็นรูปดาวปลี เหนือขึ้นไปเป็นที่ตั้งฉัตร สูงจากพื้นดิน 34.25 เมตร ชาวหนองคายจัดงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 11 ค่ำเดือนยี่ของทุกปี ภายในบริเวณวัดมีโบราณสถานอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ได้แก่ สัตตมหาสถาน หรือ สถานที่สำคัญ 7 แห่งในพุทธประวัติหลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้วและได้เสด็จประทับเสวยวิมุติสุขแห่งละ 7 วัน และสระปัพพฬนาค หรือสระพญานาค ซึ่งในสมัยโบราณเมื่อมีการแต่งตั้งเจ้าเมือง ก็จะนำน้ำจากสระนี้ไปสรงเพื่อเป็นสิริมงคล

  วัดศรีชมภูองค์ตื้อ
       วัดศรีชมภูองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย




 
       หลวงพ่อองค์ตื้อ ตั้งอยู่ที่วัดศรีชมภูองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ตามหลักศิลาจารึกว่า สร้างเมื่อ 2105 พร้อมกับพระเจ้าองค์ตื้อ พระไชยเชษฐาผู้ครองนครเวียงจันทร์เป็นผู้สร้างนามเดิมคือ " วัดโกสีย์ " แต่ชาวบ้านเรียกวัดองค์ตื้อ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2105 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 7 เมตรยาว 13 เมตร หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่สร้างขึ้นด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์ ฝีมือศิลปกรรมล้านนาผสมล้านช้าง ขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร 29 เซนติเมตร สูง 4 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิปาฎิหาริย์ เป็นที่เคารพของพุทธศาสนิกชนโดยทั่ว 

     ครั้งหนึ่งพวกฮ่อได้ยกทัพข้ามโขงมาขึ้นฝั่งที่วัดน้ำโมงหวังจะทำลายพระองค์ตื้ออันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนแถบนั้น เพื่อเป็นการทำลายขวัญของพวกชาวบ้าน ขณะที่ข้าศึกได้จ้วงขวานฟันลงไปที่พระชานุของพระองค์ตื้อนั้น ก็ปรากฏเสียงร้องออกจากพระโอษฐ์และมีพระดลหิตไหลออกจากแผลที่พระชานะ พร้อมกับมีน้ำพระเนตรไหลซึมออกมาเป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก ข้าศึกเป็นอัศจรรย์เช่นนั้นก็เกรงจะเกิดภัยจึงได้รีบยกทัพกลับ แต่ก็ปรากฏว่าพวกฮ่อถึงแก่ความตายจนหมดสิ้น

     เมื่อถึงประเพณีสมโภชพระเจ้าองค์ตื้อของทุกๆปีในวันขึ้น 11 ค่ำไปจนถึงแรม 1 ค่ำเดือน 4 จะมีการเวียนเทียนรอบวิหารหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ ชาวอิสานเรียกว่าบุญเผวส (บุญเดือน 4) " อิทธิปาฏิหาริย์ " ของหลวงพ่อองค์ตื้อที่เป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป

     บุคคลที่ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล ให้มีดอกไม้ธูปเทียนหรือเครื่องสักการะอย่างอื่น มาทูลขอบุตรธิดาจากพระองค์ บุคคลผู้นั้นก็จะได้กุลบุตรธิดาสืบสกุลสมความปรารถนา และบุตรธิดาที่พระองค์ประทานให้นั้น บิดามารดาจะเฆี่ยนตีโดยประการใดๆไม่ได้ต้องสั่งสอนเอาโดย " ธรรม " เท่านั้น

  วัดอรัญญบรรพต
       วัดอรัญญบรรพต ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย




 
       วัดอรัญญบรรพต ตั้งอยู่ริมถนนสายศรีเชียงใหม่-สังคม ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อถวายหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ เกจิอาจารย์ที่มีศิษยานุศิษย์มากมาย มีชื่อเสียงด้านวิปัสสนา ปัจจุบันได้มรณภาพแล้วเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2548 เคยเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวประชาทั้งใกล้และไกล จวบจนท่านมรณภาพลง ก็มีการสร้างเสนาสนะต่างๆ มีความสวยงาม ในพื้นที่วัดที่กว้างขวาง หากไม่มีป้ายชื่อวัดติดอยู่ตรงประตูหน้า ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาคงยากที่จะรู้ว่าพื้นที่ที่มีกำแพงล้อมรอบกว้างใหญ่ไพศาลคล้ายจะล้อมเนินเขาเล็กๆ เอาไว้ทั้งลูกนี้ คืออะไรกันแน่

  วัดหินหมากเป้ง
       วัดหินหมากเป้ง บ้านไทยเจริญ ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย






 
       วัดหินหมากเป้ง ตั้งอยู่ที่บ้านไทยเจริญ ตำบลพระพุทธบาท โดยหลวงปู่์เทสก์ เทสรังสี ได้ริเริ่มจัดตั้งให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ แม่ชี และผู้แสวงบุญทั้งหลาย บริเวณโดยรอบสะอาด เรียบร้อยและเงียบสงบ ร่มรื่นด้วยไม้นานาพันธ์ มีพื้นที่ด้านหนึ่งติดกับลำน้ำโขง ทัศนียภาพสวยงาม ได้รับการจัดตั้งให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ. 2523 

 
 


      หินหมากเป้ง เป็นชื่อหินสามก้อนซึ่งตั้งเรียงรายกันอยู่ริมฝั่งโขงที่หน้าวัดนี้เอง อันมีรูปลักษณะคล้ายลูกตุ้มเครื่องชั่งทองคำสมัยเก่า คนพื้นนี้เขาเรียกว่า เต็งหรือเป้งยอย คำว่าหมากเป้งเป็นภาษาภาคนี้ ผลไม้หรืออะไรก็ตาม ถ้าเป็นลูกแล้วเขาเรียกหมากขึ้นหน้า เช่น หมากม่วง หมากพร้าว เป็นต้น 

  วัดผาตากเสื้อ
       วัดผาตากเสื้อ เทือกเขาภูพานน้อย บ้านปากโสม ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย






 
       วัดผาตากเสื้อ เดิมชื่อวัดถ้ำพระ หลวงปู่เพชร ปะทีโป ท่านได้เดินทางมาปฏิบัติธรรมบริเวณถ้ำพระและได้ก่อตั้งวัดผาตากเสื้อขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2477 มีเนื้อที่ 29 ไร่ 2 งาน 78 ตารางวา วัดผาตากเสื้อเป็นวัดปฏิบัติธรรม ต่อมาได้อัญเชิญพระสารีริกธาตุมาประดิษฐานเมื่อ 2 เมษายน 2550 เป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป 

     เป็นวัดที่มีทิวทัศน์สวยงามมาก สูงจากระดับน้ำทะเล 550 เมตร มองจากบนผาลงมามองเห็นความเป็นอยู่ของชาวไทยลาว ภายในวัดมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ สามารถเดินเลาะ ตามหน้าผาเพื่อชมธรรมชาติ และทิวทัศน์ที่สวยงามได้นักท่องเที่ยวที่สนใจท่องเที่ยวชมวัดถ้ำศรีมงคล(ถ้ำเพียงดิน) และวัดผาตากเสื้อ


  วังบัวแดง
       วังบัวแดงหนองคาย บ้านไผ่สีทอง ตำบลเวียงคุก อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย







   
 
       วังบัวแดงหนองคาย  มีลักษณะเป็นหนองน้ำ ธรรมชาติขนาดใหญ่ที่มี ดอกดอกบัวบานกว่า2พันไร่  สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพธรรมชาติ มาที่นี่รับรองว่าไม่ผิดหวัง เพราะจะได้พบกับดอกบัวสีสด บานสะพรั่ง มองดูคล้ายมีผืนพรมสีแดงอมชมพู ปูอยู่ทั่วผืนน้ำ โดยมีฉากหลังเป็นทิวไม้สีเขียวชอุ่ม การชมดอกบัวแดง สามารถชม ได้จากทั้งบนฝั่งหรือจะนั่งเรือไปยังจุดชมดอกบัวแดงที่ถูกสร้างขึ้นเป็นเรือนแพเหนือหนองน้ำ โดยบัวแดงจะมีเฉพาะ ช่วงเดือน ธันวาคมถึงประมาณเดือนกุมภาพันธุ์ ช่วงเวลาชมดอกบัวที่สวยงามต้องเป็นช่วงอากาศเย็น คือตั้งแต่เช้ามืดจนถึง 10.00 น. ถ้าไปแต่เช้าตรู่จะเห็นนกเป็ดน้ำ นกกระยาง  นอกจากดอกบัวหลากสีแล้ว ที่นี่ยังอุดมไปด้วย พันธุ์ปลาน้ำจืดหลายชนิด อาทิ ปลาช่อน ปลาขาว ปลาตะเพียน และปลากราย ถือเป็นแหล่งอาหารอันสมบูรณ์ของชาวบ้านละแวกนี้

       การเที่ยวชม
       วังบัวแดง หรือ วังบัวชมพู ต้องนั่งเรือซึ่งเป็นเรือพายของชาวบ้านสามารถสัมผัสธรรมชาติ ได้อย่างสงบไม่มีเสียง เครื่องยนต์คอยรบกวน สามารถติดต่อเรือได้ที่บริเวณ วังบัวแดง ราคาเรือลำละ 100 บาท นั่งได้ไม่เกิน 3 คน

      การเดินทางไปวังบัวแดง
      
วังบัวแดงห่างจากเมืองหนองคายประมาณ 16 ก.ม. การเดินทางควรใช้เส้นทางริมโขง เข้าสู่บ้านปะโคเลี้ยวเข้าซอย พระธาตบุซอยอยู่ ข้างปั้มน้ำมันปะโค) เข้าไปประมาณ 5-6 กม 

  บั้งไฟพญานาค
       * ในเขตอำเภอสังคม บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสังคม , อ่างปลาบึก บ้านผาตั้ง อำเภอสังคม
       * ในเขตอำเภอศรีเชียงใหม่ วัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท
       * ในเขตอำเภอเมือง บ้านหินโงม ตำบลหินโงม อำเภอเมือง , หน้าสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเดื่อ ตำลบบ้านเดื่อ อำเภอ เมือง หนองคาย
       * ในเขตอำเภอโพนพิสัย ปากห้วยหลวง ตำบลห้วยหลวง อำเภอโพนพิสัย , ในเขตเทศบาลตำบลจุมพล หน้าวัดไทย วัดจุมพล วัดจอมนาง ตำบลจุมพล
       * อำเภอโพนพิสัย หนองสรวง อำเภอโพนพิสัย , เวินพระสุก ท่าทรายรวมโชค ตำบลกุดบง อำเภอโพนพิสัย , บ้านหนองกุ้ง ตำบลกุดบง อำเภอโพนพิสัย
       * ในเขตกิ่งอำเภอรัตนวาปี ปากห้วยเป บ้านน้ำเป ตำบลน้ำเป กิ่งอำเภอรัตนวาปีบ้านท่าม่วง ,วัดเปงจาเหนือ กิ่งอำเภอรัตนวาปี
       * ในเขตอำเภอปากคาด บ้านปากคาดมวลชล ห้วยคาด อำเภอปากคาด
       * ในเขตอำเภอบึงกาฬ วัดอาฮง ตำบลหอคำ อำเภอบึงกาฬ
       * ที่อื่นๆ นอกจาก 14 แห่งนี้ที่อื่นก็อาจจะมีขึ้นบ้าง นอกจากในลำน้ำน้ำโขงแล้วตามห้วย หนองคลองบึง สระน้ำ กลางทุ่งนาที่มีน้ำขัง แม้แต่บ่อบาดาลที่ชาวบ้านขุดเพื่อเอาน้ำมาใช้ ในเขตจังหวัดหนองคาย ก็มีบั้งไฟพญานาคขึ้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ ปี 2542 เกิดมากที่สุด ที่ชายตลิ่ง หน้าสถานี ตำรวจภูธรตำบลบ้านเดื่อ ห่างจาก อ.เมือง หนองคาย เพียง 15กม.



  




 
       บั้งไฟพญานาค เกิดช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี โดยเฉพาะคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ปีใดมีเดือน 8 สองหนจะเลื่อนไปอีก 1 วัน คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำของประเทศสปป.ลาว มหาชนจากทั่วทุกสารทิศจะเดินทางหลั่งไหลมาที่อำเภอโพนพิสัยและอำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย อย่างเนืองแน่นชนิดที่หาที่จอดรถไม่ได้ หรือแทบจะเดินไม่ได้ 

      มหาชนเหล่านั้นมาเพื่อที่จะร่วมงานประเพณีไหลเรือไฟและจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือมาชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค เพื่อพิสูจน์ว่า บั้งไฟพญานาคเกิดสิ่งนั้นเป็นอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมบั้งไฟพญานาคเกิดจึงเกิดขึ้นเฉพาะวันออกพรรษาเท่านั้น แม้ว่าวันออกพรรษา ของแต่ละปีจะคลาดเคลื่อนไปไม่ตรงกับวันเดิม "บั้งไฟพญานาค" ก็จะเคลื่อนไปตามวันออกพรรษาของปีนั้น ๆ และทำไมบั้งไฟพญานาคเกิดถึงต้องเกิดขึ้น และเกิดขึ้นเฉพาะที่บริเวณอำเภอโพนพิสัย บริเวณอำเภอรัตนวาปี เท่านั้น 

      บั้งไฟพญานาคเป็นลูกไฟที่พุ่งขึ้นสู่อากาศแก้วก็หายไป เกิดขึ้นทั้ง กลางแม่น้ำโขงและบริเวณใกล้ ๆ ฝั่ง ขึ้นสูงประมาณ 30-50 เมตร บางแห่งขึ้นสูงเป็น 100 เมตร ขนาดของลูก ไฟที่เกิดขึ้นนั้น มีขนาดโตเท่าผลส้ม ขนาดกลางเท่าไข่ไก่ ขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือ เวลาที่เกิดไม่แน่นอนแต่ต้องมืดค่ำก่อนจึงจะเกิด บางปีเกิดตั้งแต่หัวค่ำ เวลา 18.00 น. บางปีเกิดในเวลาตั้งแต่ 3-4 ทุ่ม เกิดจนไปถึงเวลา เที่ยงคืน ถึง 02.00 น. จำนวนที่เกิดขึ้นนั้น จำนวนไม่เท่ากัน บางแห่งเกิดขึ้นเพียง 1 ลูก บางแห่งเกิดขึ้น 20 ลูก หรือบางแห่งก็เกิด 50-100 ลูก หรือมีมากกว่านั้น สถานที่เกิดส่วนมากจะเป็นลำแม่น้ำโขง แต่ก็มีบ้างเกิดขึ้นใน ห้วยหนองที่อยู่ใกล้ กับแม่น้ำโขงและอยู่ในท้องที่อำเภอโพนพิสัย อำเภอปากคาด อำเภอรัตนวาปี อ.ศรีเชียงใหม่ (วัดหินหมากเป้ง) บ้านผาตั้ง อ.สังคม เกิดขึ้นเป็นบางส่วน


เข้าชม : 11828