" ศูนย์ภาษาอาเซียน "
ความเป็นมา
การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ของประเทศไทยจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนไทย การสร้างคนไทยยุคใหม่ให้มีความรู้ ความดี และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ซึ่งหมายรวมถึงการจัดการศึกษาเพื่อให้คนไทย มีความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองอาเซียน ที่สามารถแข่งขันและอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสันติสุข จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักถึงความสำคัญของประชาคมอาเซียนที่มีผลต่อการจัดการศึกษา โดยเฉพาะในเรื่องของการสื่อสารซึ่งเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และประกอบอาชีพ ตลอดจนการเจรจาต่อรองเพื่อการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและสังคมในเวทีสากล การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานที่พัฒนาเตรียมความพร้อม และใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่เดิมและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้เต็มที่ รวมทั้งสามารถปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ต้องหาวิธีการที่จะผนวกหรือบูรณาการอาเซียนให้เข้าไปในทุกประเด็นของการจัดการศึกษา โดยที่องค์ประกอบและปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการวางยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียนสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และสามารถนำสมรรถนะที่จำเป็นมาส่งเสริมประกอบการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานเกี่ยวกับการยกระดับความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศ
เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในสี่ปีข้างหน้า สำนักงาน กศน. ได้ดำเนินโครงการจัดการศึกษาเพื่อยกระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ในปีงบประมาณ 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ครู กศน. กลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในระดับที่จะสื่อสารได้ โดยใช้ภาษาต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และประกอบอาชีพ ตลอดจนเจรจาต่อรองเพื่อการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและสังคมในเวทีสากลต่อไป
ศูนย์ภาษาอาเซียน กศน. อำเภอ เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า รวบรวม เผยแพร่ข้อมูล และจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องภาษาต่างประเทศ อาเซียนศึกษา รวมทั้งให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศในการสื่อสาร ตลอดจนเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ประเพณี สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การท่องเที่ยว ฯลฯ ในกลุ่มประเทศอาเซียน
แนวคิด
ศูนย์ภาษาอาเซียน กศน. อำเภอ/เขต เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า รวบรวม เผยแพร่ข้อมูล และจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องอาเซียนศึกษา ภาษาต่างประเทศ ตลอดจนให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศในการสื่อสาร และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ประเพณี สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การท่องเที่ยว ฯลฯ ในกลุ่มอาเซียน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และภาษาเรื่องอาเซียนศึกษา และภาษาต่างประเทศ
2. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยน เผยแพร่ข้อมูล และการสื่อสารโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
3. เพื่อเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า รวบรวม ข้อมูลความรู้ด้านอาเซียนศึกษา และภาษาต่างประเทศ
4. เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ประเพณี สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การท่องเที่ยว ฯลฯ ในกลุ่มอาเซียน
กลุ่มเป้าหมาย
1. ผู้รับบริการ ได้แก่ นักศึกษา กศน. บุคลากร กศน. ผู้สูงอายุ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำท้องถิ่น ประชาชนที่สนใจ ฯลฯ
2. ผู้ให้บริการ ได้แก่ ครู กศน. อาสาสมัครอาเซียนศึกษา วิทยากร บรรณารักษ์ ฯลฯ
3. เครือข่าย ได้แก่
3.1 เครือข่ายในประเทศ
3.1.1 หน่วยงานกระทรวงศึกษาธิการ เช่น โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัย ศูนย์ภาษา
3.1.2 หน่วยงานภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ เช่น องค์กรเอกชน แรงงานจังหวัด
การท่องเที่ยว ฯลฯ
3.2 เครือข่ายระหว่างประเทศ เช่น หน่วยงานด้านการศึกษาของกลุ่มประเทศอาเซียน (ประเทศในกลุ่มอาเซียน) องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรภาคประชาสังคม (NGO)
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ผลผลิต
1. มีศูนย์ภาษาอาเซียน กศน. อำเภอ เป็นแหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม ประเพณี สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การท่องเที่ยว ฯลฯ ในกลุ่มอาเซียน
2. กลุ่มเป้าหมายได้รับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และภาษาในกลุ่มประเทศอาเซียน
ผลลัพธ์
ประชาชนมีความสามารถและทักษะในระดับที่จะสื่อสารได้ โดยใช้ภาษาต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และประกอบอาชีพ ตลอดจนการเจรจาต่อรองเพื่อการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและสังคมในเวทีสากล
สถานที่ตั้ง
1. มีสถานที่ที่เหมาะสมในการจัดการเรียนการสอน
2. ตั้งอยู่ในเขตชุมชน แหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งอุตสาหกรรมบริการ หรือเขตเศรษฐกิจชายแดน
บุคลากร
1. บุคลากรที่มีพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษและเทคโนโลยีสารสนเทศ
2. มีเครือข่ายที่มีความพร้อมด้านอาเซียนศึกษา เช่น โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการ
การศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัย ศูนย์ภาษา องค์กรเอกชน ฯลฯ
สื่อ/วัสดุอุปกรณ์
1. มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มีคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 4 เครื่อง และอินเทอร์เน็ต (internet)
ศูนย์อาเซียนศึกษาจังหวัดหนองคาย
ความเป็นมา
ศูนย์อาเซียนศึกษาจังหวัดหนองคาย สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดหนองคาย มีศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองหนองคายเป็นผู้ดำเนินการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย โดยเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 โดยมีนายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการ กศน. และ Dr.Ka saleumsuk อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน สปป.ลาว เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์อาเซียน
ปัจจุบันศูนย์อาเซียนศึกษา จังหวัดหนองคาย เป็นแหล่งให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ 10 ประเทศที่จะเข้าร่วมกันเป็นประชาคมอาเซียนแก่ประชาชนชาวหนองคายที่เข้าใช้บริการห้องสมุดประชาชนซึ่งจะได้ศึกษาข้อมูลของกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียนในทุกๆ ด้านที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ ทั้งด้านการเมืองการปกครอง สภาพเศรษฐกิจ วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวและอื่นๆ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจประเทศต่างๆ ให้มากที่สุด นอกจากนี้ ศูนย์อาเซียนแห่งนี้ยังจัดให้มีการจัดการเรียนการสอนตามโครงการอบรมหลักสูตรคอมพิวเตอร์และภาษาอังกฤษพื้นฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพบุคลากรสู่ประชาคมอาเซียน โดยความร่วมมือของจังหวัดหนองคาย องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคายและสำนักงาน กศน.จังหวัดหนองคาย
ที่ตั้ง บริเวณหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย
คุ้มหายโศก ถนนมีชัย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย 43000
โทรศัพท์ 0-4241-2488
เวลาเปิดบริการ
- วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.30 - 17.00 น.
- วันเสาร์ – วันอาทิตย์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
- หยุดทุกวันนักขัตฤกษ์
ศูนย์อาเซียนศึกษา กศน.อำเภอ
ศูนย์อาเซียน กศน.อำเภอ จังหวัดหนองคาย ตั้งอยู่ห้องสมุดประชาชนอำเภอ ในจังหวัดหนองคาย ดังนี้
- ห้องสมุดประชาชนอำเภอท่าบ่อ
- ห้องสมุดประชาชนอำเภอโพนพิสัย
- ห้องสมุดประชาชนอำเภอศรีเชียงใหม่
- ห้องสมุดประชาชนอำเภอสังคม
- ห้องสมุดประชาชนอำเภอสระใคร
- ห้องสมุดประชาชนอำเภอเฝ้าไร่
- ห้องสมุดประชาชนอำเภอรัตนวาปี
- ห้องสมุดประชาชนอำเภอโพธิ์ตาก
รายงาน: กลุ่มยุทธศาสตร์และการพัฒนา
ข้อมูล ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557
เข้าชม : 7816 |