[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 


การศึกษาขั้นพื้นฐาน กศน.

หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

คือ การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายนอกระบบโรงเรียนด้วยรูปแบบวิธีการที่เหมาะสมและมีสาระหลักสูตรที่หลากหลายสอดคล้องกับความต้องการ
เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ทักษะพื้นฐานในการดำเนินชีวิตการทำงานและการศึกษาต่อเนื่องให้เกิดชีวิตที่มีความมั่นคงและสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน วิธี กศน. มี 3 รูปแบบ คือ

1. การศึกษาวิธีเรียนพบกลุ่ม เน้นหลักการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก มีการพบกลุ่มเพื่อนำสิ่งที่ได้ไปศึกษาค้นคว้า แล้วนำมาเสนอ อภิปราย และสรุปร่วมกันในลักษณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
2. การศึกษาวิธีเรียนทางไกล เป็นวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยผ่านสื่อการศึกษาทางไกล ได้แก่ ชุดการเรียนทางไกล CD VCD รายการทางวิทยุและโทรทัศน์ Internet เป็นต้น
3. การประเมินเทียบระดับการศึกษา เป็นการประเมินจากความรู้ ทักษะ ผลงาน ประสบการณ์จากแฟ้มสะสมผลงาน โครงงาน การสอบ ปฏิบัติ สัมภาษณ์ และทำกิจกรรมเข้าค่ายหรือกิจกรรม กพช. (กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต)

หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔

1. ระดับประถมศึกษา
ผู้เรียนต้องเรียนกลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน 4 หมวดวิชา ประกอบด้วย หมวดวิชาภาษไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาต่างประเทศ รวม 20 หน่วยกิต และกลุ่มหมวดวิชาประสบการณ์ 4 หมวดวิชา ประกอบด้วย หมวดวิชาพัฒนาสังคมและชุมชน พัฒนาทักษะชีวิต 1 พัฒนาทักษะชีวิต 2 และพัฒนาอาชีพ รวม 28 หน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต และต้องทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) ไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง
2. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
ผู้เรียนต้องเรียนกลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน 4 หมวดวิชา ประกอบด้วย หมวดวิชาภาษไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาต่างประเทศ รวม 24 หน่วยกิต และกลุ่มหมวดวิชาประสบการณ์ 4 หมวดวิชา ประกอบด้วย หมวดวิชาพัฒนาสังคมและชุมชน พัฒนาทักษะชีวิต 1 พัฒนาทักษะชีวิต 2 และพัฒนาอาชีพ รวม 32 หน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต และต้องทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) ไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง
3. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ผู้เรียนต้องเรียนกลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน 4 หมวดวิชา ประกอบด้วย หมวดวิชาภาษไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาต่างประเทศ รวม 28 หน่วยกิต และกลุ่มหมวดวิชาประสบการณ์ 4 หมวดวิชา ประกอบด้วย หมวดวิชาพัฒนาสังคมและชุมชน พัฒนาทักษะชีวิต 1 พัฒนาทักษะชีวิต 2 และพัฒนาอาชีพ รวม 48 หน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต และต้องทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) ไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง ทั้งนี้ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนเรียนหมวดวิชาเพิ่มเติมตามความต้องการในกลุ่มหมวดวิชาพื้นฐานและกลุ่มหมวดวิชาประสบการณ์

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้

1. การวัดและประเมินผลหมวดวิชา
2. การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
3 การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์
4. การประเมินการอ่านคิดวิเคราะห์

การลงทะเบียน

1. ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นักศึกษาสามารถลงทะเบียนได้ภาคเรียนละ 2 หมวด โดยลงทะเบียนในกลุ่มหมวดพื้นฐาน 1 หมวด และกลุ่มหมวดประสบการณ์ 1 หมวด โดยยกเว้นหมวดวิชาที่นำมาเทียบโอนผลการเรียน
2. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นักศึกษาสามารถลงทะเบียนได้ภาคเรียนละ 2 หมวด โดยลงทะเบียนในกลุ่มหมวดพื้นฐาน 1 หมวด และกลุ่มหมวดประสบการณ์ 1 หมวด *ยกเว้นหมวดวิชาที่ได้ผลการเรียนเป็น "0" หรือ หมวดวิชาที่เรียนเพิ่มเติมจะสามารถลงทะเบียนเรียนได้ 3 หมวดวิชา ทั้งนี้ไม่นับรายหมวดวิชาที่เทียบโอนผลการเรียน
3. การลงทะเบียนกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต นักศึกษาต้องลงไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่นักศึกษาจะต้องได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด จึงจะได้รับการพิจารณาให้จบหลักสูตรในแต่ละระดับการเรียนได้
4. การลงทะเบียนรักษาสภาพ กรณีนักศึกษาไม่สามารถลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนใดภาคเรียนหนึ่งได้ จะต้องลงทะเบียนรักษาสภาพการเป็นนักศึกษา หากไม่สามารถลงทะเบียนรักษาได้ ต้องลงทะเบียนย้อนหลังทุกภาคเรียนที่ไม่ได้ลงทะเบียน ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 6 ภาคเรียนติดต่อกัน และต้องเป็นไปตามวัน เวลา วิธีการที่สถานศึกษากำหนด

ระยะเวลารับสมัคร

จะเปิดรับสมัครและลงทะเบียนเรียนปีละ 2 ครั้ง ในช่วงเวลา ภาคเรียนที่ 1 รับสมัครเดือนเมษายน เปิดภาคเรียน 16 พฤษภาคม ภาคเรียนที่ 2 รับสมัครเดือนตุลาคม เปิดภาคเรียน 1 พฤศจิกายน จัดกรับวนการเรียนการสอนหรือนักศึกษาต้องมาพบกลุ่ม 18 ครั้ง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง นักศึกษาต้องมีเวลาพบกลุ่มไม่น้อยกว่า 75% ขาดเรียนได้ไม่เกิน 3 ครั้ง จะทำให้หมดสิทธิ์สอบ เวลาเรียนแบ่งการเรียนออกเป็น 2 ภาคเรียน ภาคเรียนละ 20 สัปดาห์ โดยกำหนดให้ทุกระดับต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 4 ภาคเรียน หรือ 2 ปี ยกเว้น ผู้ที่เทียบโอนผลการเรียนสามารถจบก่อน 4 ภาคเรียน

คุณสมบัติของผู้สมัคร

1. สัญชาติไทย หรือคุณสมบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยหลักฐาน วัน เดือน ปีเกิด ในการรับนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๓๕
2. เป็นผู้พ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ
- ระดับประถมศึกษา ไม่จำกัดพื้นความรู้
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ต้องสอบได้วุฒิประถมศึกษาหรือเทียบเท่า
- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ต้องสอบได้วุฒิมัธยมศึกษาตอนต้น

หลักฐานการรับสมัคร

1. ใบสมัครขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา
2. รูปถ่าย 1 นิ้วครึ่ง 4 รูป  (หน้าตรงไม่สวมแว่นดำ ไม่สวมหมวก และสวมเสื้อสีขาวมีปก)
3. สำเนาทะเบียนบ้านตนเอง จำนวน 1 ฉบับ
4. สำเนาหนังสือแสดงวุฒิ จำนวน 1 ฉบับ
5. สำเนาบัตรประชาชนตนเอง  1 ฉบับ
6. หลักฐานอื่น เช่น ใบเปลี่ยนชื่อ - ชื่อสกุล, สูจิบัตร, ทะเบียนสมรส ฯ
หมายเหตุ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสมัครเรียน

สถานที่รับสมัคร

- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอโพธิ์ตาก
- ศูนย์การเรียนชุมชนประจำตำบล

เวลาเรียน

ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 4 ภาคเรียน ยกเว้นกรณีที่เทียบโอนผลการเรียนสามารถจบหลักสูตรก่อนได้ การลงทะเบียน ทุกระดับการศึกษา ลงทะเบียนภาคเรียนละไม่เกิน 2 หมวดวิชา กลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน 1 หมวดวิชา

การวางแผนการจัดการเรียนรู้

1. ครูและนักศึกษาร่วมกันิเคราะห์หลักสูตร มาตรฐานและสาระการเรียนรู้แล้วจัดแบ่งเนื้อหาสาระ เป็น 3 ส่วน ดังนี้
1.1 เนื้อหาที่ง่ายนักศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง (กรต.) ตลอดสัปดาห์ต้องมีเวลาสำหรับการเรียนรู้ไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมง (เฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง) มีการจดบันทึก เรียบเรียงความรู้นั้น ไว้เป็นหลักฐานและนำผลการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวลาพบกลุ่ม ผู้เรียนก็ช่วยกันเรียนและเติมเต็มความรู้แก่กัน
1.2 เนื้อหาที่ยากปานกลาง ครูและนักศึกษาต้องร่วมกันจัดแผนการเรียนรู้ โดยครูเป็นผู้สอนในแต่ละสัปดาห์
1.3 เนื้อหาที่ยากมาก ครูและนักศึกษาร่วมกันจัดแผนการเรียนรู้ โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาสอนแทน
2. นักศึกษาและครู ร่วมกันวางแผนการเรียนรู้ตลอดภาคเรียนและนักศึกษาจะต้องจัดทำแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของตนเองทุกสัปดาห์ตลดภาคเรียน
3. นักศึกษาและครูร่วมกันวางแผนการวัดและประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทุกกิจกรรมตลอดภาคเรียน

การจัดกระบวนการเรียนรู้

1. กิจกรรมพบกลุ่ม (พก.) นักศึกษาต้องมีเวลาพบกลุ่มอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
2. การเรียนรู้ต่อเนื่อง (กรต.) นักศึกษาต้องมีเวลาในการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างน้อย 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือวันละ 3 ชั่วโมง
3. การทำโครงงาน นักศึกษาต้องเรียนรู้โดยการทำโครงงาน หมวดวิชาละ 1 โครงงาน ในแต่ละภาคเรียนจะต้องรวมกลุ่มกันประมาณ 5 - 7 คน เพื่อทำโครงงาน 1 โครงงานต่อ 1 หมวดวิชา โดยร่วมกันคิดวิเคระห์ว่าจะทำโครงงานใดในหมวดวิชานั้น วางแผนและลงมือปฏิบัติ นำเสนอความก้าวหน้าของการทำโครงงานในการพบกลุ่มเป็นระยะ ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเกิดความคิดต่อยอดเพื่อนำไปพัฒนาโครงงานอย่างต่อเนื่องทุกกลุ่มจนสิ้นสุดภาคเรียน
4. การจัดการเรียนรู้โดยการทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) เป็นกิจกรรมการเรียนรู้โดยกระบวนการพบกลุ่ม และเป็นเงื่อนไขของการจบหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนทุกระดับ เป็นกิจกรรมกลุ่มผู้เรียนทำตามความสนใจความถนัด โดยเน้นการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษา/เรียนรู้ ไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริงเพื่อพัฒนาตนเอง และครอบครัว ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม มีการปลูกฝังคุณธรรม ระเบียบวินัยความรับผิดชอบ การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ซึ่งผู้เรียนจะทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตในภาคเรียนใดภาคเรียนหนึ่งก็ได้ และสามารถทำร่วมกับผู้เรียนในระดับการศึกษาอื่น โดยทำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

การเทียบโอนการศึกษา

ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดรูปแบบการศึกษาไว้ 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งประชาชนจะเลือกรูปแบบใดก็ได้ และสามารถนำผลการเรียน มาเทียบโอน

การเทียบโอนผลการเรียน

1. การเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ
2. การเทียบโอนผลจากการศึกษานอกระบบที่จัดเป็นหลักสูตรเฉพาะ
3. การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรต่างประเทศ
4. การเทียบโอนประสบการณ์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ทหารกองประจำการ อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำท้องถิ่น เป็นต้น
5. การเทียบโอนผลการเรียนจากการเรียนรู้ในกิจกรรมพัฒนาอาชีพ

วิธีการเทียบโอนผลการเรียน

1. การเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบ
2. การเทียบความรู้และประสบการณ์

การเตรียมตัวของผู้ต้องการเทียบโอนผลการเรียน

1. การเตรียมเอกสารทางการศึกษา เป็นใบ ป.05 รบ. 1 ต
2. จัดเตรียมเอกสารการเทียบโอน ใบ สด.8, บัตรประจำตัวอาสาสมัครสาธารณสุข หรือหลักฐานอื่น ๆ

หลักฐานการขอจบหลักสูตร

การยื่นเรื่องขอจบหลักสูตร สามารถทำได้ 2 ภาคเรียน คือ ภาคเรียนที่ 1 ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ ภาคเรียนที่ 2 ประมาณต้นเดือนกันยายน เมื่อนักศึกษาได้รับการอนุมัติผ่านระดับการศึกษาและจบหลักสูตรแต่ละระดับแล้ว นักศึกษาจะต้องยื่นคำร้องขอจบการศึกษาพร้อมหลักฐาน ดังนี้
1. ใบคำร้องขอจบการศึกษา
2. รูปถ่าย 1 นิ้วครึ่ง 4 รูป  (หน้าตรงไม่สวมแว่นดำ ไม่สวมหมวก และสวมเสื้อสีขาวมีปก)
3. สำเนาทะเบียนบ้านตนเอง จำนวน 1 ฉบับ
4. สำเนาหนังสือแสดงวุฒิ  จำนวน 1 ฉบับ
5. สำเนาบัตรประชาชน  1 ฉบับ
6. หลักฐานอื่น เช่น ใบเปลี่ยนชื่อ - ชื่อสกุล, สูจิบัตร, ทะเบียนสมรสฯ



เข้าชม : 1487
 
 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอโพธิ์ตาก
อำเภอโพธิ์ตาก  จังหวัดหนองคาย 0-4248-3258 , Fax  0-4248-3258 
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายจักรพงษ์ จุลสราญพงษ์, นายศุภกิตติ์ ถาวร