ท้องผูก (Constipation) คืออะไร?
https://www.honestdocs.co/constipation https://www.honestdocs.co
อาการท้องผูกเกิดขึ้นเมื่อคุณมีการขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ท้องผูก (Constipation) เป็นปัญหาของระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยปัญหาหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวของลำไส้ไม่สม่ำเสมอหรือมีการขับถ่ายลำบาก ซึ่งจัดเป็นอาการหนึ่งของปัญหาสุขภาพต่างๆ มากกว่าจะจัดว่าเป็นโรคจากตัวของมันเอง โดยการขับถ่าย 'ปกติ' ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะถ่าย 3 ครั้งต่อวัน ในขณะที่คนอื่นๆ อาจถ่ายเพียงแค่ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ คุณอาจสันนิษฐานได้ว่าคุณมีอาการท้องผูก หากคุณมีการขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จากจุดนี้ อุจจาระของคุณอาจจะแข็งขึ้น และมีอาการถ่ายลำบากหรือเจ็บเวลาถ่าย โดยในขณะที่ท้องผูกคุณอาจจะต้องใช้แรงมากกว่าปกติในการเบ่งถ่าย หรือรู้สึกว่าไม่สามารถถ่ายอุจจาระให้สุดได้ ความชุกและปัจจัยเสี่ยง ท้องผูกเป็นหนึ่งในปัญหาทางระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบต่อผู้คนประมาณ 42 ล้านคน หรือเกือบ 15% ของประชากร โดยในปี ค.ศ. 2004 อาการท้องผูกส่งผลให้มีการเข้ามารักษาเป็นผู้ป่วยนอกถึง 6.3 ล้านครั้ง และได้รับการจ่ายยาถึง 5.3 ล้านครั้ง ถึงแม้ว่าอาการท้องผูกสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่คุณจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างมาก หากคุณมีปัจจัยต่อไปนี้ เพศหญิง อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปี รายได้น้อย ไม่ได้เป็นคนยุโรป คุณจะมีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการท้องผูกด้วยเช่นกัน หากคุณตั้งครรภ์ เพิ่งคลอดบุตร หรือเพิ่งได้รับการผ่าตัด สาเหตุของอาการท้องผูก ระบบทางเดินอาหาร ประกอบด้วยอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อกลวงต่อกัน ตั้งแต่ปากของคุณไปจนถึงทวารหนัก ทำหน้าที่ในการย่อยอาหาร ดูดซึมสารอาหาร และขับถ่ายของเสีย โดยในระบบทางเดินอาหารส่วนล่างของคุณ ซึ่งประกอบด้วยลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ทำหน้าที่ดูดซึมน้ำจากอาหารที่ย่อยแล้ว และเปลี่ยนมันจากของเหลวให้กลายเป็นของแข็ง (อุจจาระ) ทั้งนี้ อาการท้องผูกเกิดขึ้นเมื่ออาหารที่ถูกย่อยแล้วใช้เวลาอยู่นานเกินไปในลำไส้ของคุณ เมื่อลำไส้ของคุณดูดซึมน้ำมากเกินไป จะทำให้อุจจาระอุจจาระของคุณแข็งและแห้ง และทำให้กล้ามเนื้อส่วนไส้ตรงทำการขับอุจจาระออกได้ยาก ปัจจัยต่างๆที่สามารถนำไปสู่อาการท้องผูก ได้แก่ รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย มีกิจกรรมทางกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ดื่มน้ำน้อย ยาบางชนิด (เช่น ยาต้านซึมเศร้า ยาระงับปวด ยาลดกรดในกระเพาะ และยาเสริมธาตุเหล็ก; ยากันชักและยาป้องกันกล้ามเนื้อเกร็งตัว; ยารักษาโรคพากินสัน; และยากลุ่ม Calcium channel blocker สำหรับรักษาโรคความดันลิตสูงและโรคหัวใจ) รับประทานยาระบายหรือสวนถ่ายบ่อย มีการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน เช่น เดินทางไกล สุขนิสัยการขับถ่ายไม่เหมาะสม เช่น ชอบกลั้นอุจจาระ มีปัญหาหรือความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้แปรปรวน เนื้องอก หรือลำไส้อุดตัน; โรคแพ้กลูเตน (Celiac disease); และติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ โรคและสภาวะความเจ็บป่วยต่างๆ เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) เบาหวาน ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ โรคพากินสัน เส้นเลือดในสมองตีบ (Stroke) และการได้รับบาดเจ็บของเส้นประสาท ภาวะแทรกซ้อนของอาการท้องผูก อาการท้องผูกโดยมากแล้วมักจะเกิดแบบเฉียบพลัน ซึ่งหมายความว่า อาการเกิดนั้นขึ้นทันทีทันใดและเป็นอยู่ไม่นาน แต่ท้องผูกก็สามารถเป็นแบบเรื้อรังได้เช่นกัน และการท้องผูกลักษณะนี้มักทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นไปได้ ได้แก่ ริดสีดวงทวาร : หลอดเลือดดำบริเวณไส้ตรงหรือรอบรูทวารโป่งบวมอักเสบ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้มีอาการปวดบริเวณไส้ตรงและมีเลือดออกได้ รอยฉีกรอบรูทวาร (Anal Fissure) : เป็นรอยฉีกขาดขนาดเล็กรูทวารบริเวณผิวหนังรอบๆรูทวารซึ่งมักจะมีอาการคัน ปวด และเลือดออกร่วมด้วย ภาวะอุจจาระอัดแน่น (Fecal Impaction) : จากการที่ไม่สามารถขับอุจจาระออกได้เนื่องจากอุจจาระแข็งและอัดอยู่ในลำไส้แน่นเกินไป ลำไส้ปลิ้น (Rectal Prolapse) : ภาวะที่ส่วนของไส้ตรงยื่นออกมาอยู่นอกรูทวาร
เข้าชม : 231
|