ต้อหิน (Glaucoma) คืออะไร?
https://www.honestdocs.co/glaucoma https://www.honestdocs.co
ความดันภายในลูกตาที่สูงมากไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง สามารถทำร้ายเส้นประสาทตาและทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ โรคต้อหิน (Glaucoma) มักจะไม่มีอาการปวด แต่เป็นโรคทางตาที่ร้ายแรงก่อให้เกิดเส้นประสาทตาถูกทำลาย เส้นประสาทตานี้เองจะเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างลูกตากับสมอง เพื่อทำหน้าที่ให้เรามองเห็นภาพ อาการนี้สามารถทำให้ตาบอดได้และต้อหินก็เป็นสาเหตุลำดับที่สองของโลกที่ทำให้เกิดอาการตาบอด ความชุกของโรคต้อหิน โรคต้อหินเกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา ประชากรในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่า 3 ล้านคน เป็นโรคต้อหิน แต่มีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่รู้ว่าตนเองเป็นโรคนี้ Glaucoma Research Foundation รายงานว่า ชาวแอฟริกันอเมริกันมีโอกาสสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินมากกว่ากลุ่มอเมริกันผิวขาว 6-8 เท่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน ปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดโรคต้อหิน คือ การมีความดันภายในลูกตาสูง ส่วนสาเหตุที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ วัยชรา การเป็นชาวแอฟริกัน กระจกตาบาง (ส่วนด้านหน้าลูกตาที่ใส) ประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหิน สายตาสั้น เคยได้รับอุบัติเหตุทางตามาก่อน ใช้สารสเตียรอยด์ มีประวัติของภาวะช็อคหรือโลหิตจาง สาเหตุของโรคต้อหิน นักวิจัยเองก็ยังไม่เข้าใจชัดเจนว่าโรคต้อหินเกิดขึ้นได้อย่างไร สาเหตุหนึ่ง คือ เนื่องจากเส้นประสาทตาถูกกดจากการที่มีความดันภายในลูกตาที่สูงขึ้น อีกสาเหตุ คือ การลดลงของเลือดที่มาเลี้ยงเส้นประสาทตา National Eye Institute รายงานว่า ในคนที่มีความดันภายในลูกตาปกติก็สามารถเป็นโรคต้อหินได้ นอกจากนี้ คนที่มีความดันโลหิตสูงก็สามารถทำให้เส้นประสาทตาถูกทำลายได้ โรคต้อหินเป็นโรคที่ไม่มีอาการเตือนและไม่มีอาการปวดร่วมด้วย รวมถึงเมื่อการมองเห็นถูกทำลายไปแล้ว ก็จะมองไม่เห็นอย่างถาวร ดังนั้น การวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วทำให้คุณอาจจะสามารถชะลอโรคไว้ได้ ความดันภายในลูกตาคืออะไร? ในลูกตาปกติจะมีของเหลวใสที่เรียกว่า aqueous humor (น้ำในช่องม่านตา) ซึ่งจะไหลเวียนเพื่อเป็นสารอาหารให้แก่ลูกตาและส่วนประกอบอื่นๆ ของตา โดยปกติแล้วของเหลวนี้จะถูกระบายออกจากตา เมื่อไหร่ที่การระบายออกของของเหลวนี้ช้าลง ความดันภายในลูกตาก็จะสูงขึ้นและสามารถไปทำลายเส้นประสาทตาโดยการกดทับเส้นประสาทตา เส้นประสาทตาเป็นอวัยวะที่สำคัญสำหรับการมองเห็น เส้นประสาทตาเป็นตัวนำพาสัญญาณจากจอประสาทตา (retina) ที่อยู่ภายในของลูกตาเข้าสู่สมอง เมื่อเส้นประสาทตาถูกทำลาย เช่น จากการที่มีความดันภายในลูกตาสูง เป็นต้น จะทำให้เกิดจุดบอดที่มากขึ้นในลานสายตา (visual field) ของคุณ ชนิดต่างๆ ของต้อหิน โรคต้อหินมีหลายชนิด ได้แก่ โรคต้อหินชนิดมุมเปิด : เป็นประเภทที่พบได้มากที่สุด เกิดขึ้นเนื่องจากของเหลวในตาไหลผ่านออกทางมุมตา (angle) ได้ช้าเกินไป โดย angle คือ บริเวณที่กระจกตาบรรจบเจอกับม่านตา อาการแรกของโรคต้อหินชนิดนี้ คือ การสูญเสียการมองเห็นภาพด้านข้างไป ร่างกายอาจจะทำการชดเชยการสูญเสียนี้ไปด้วยการหันศีรษะไปทางด้านที่จะทำให้เห็นภาพโดยที่ไม่รู้ตัวเลย คุณอาจจะไม่รู้เลยว่าคุณกำลังสูญเสียการมองเห็นจนอาการรุนแรงแล้ว โรคต้อหินชนิดความดันต่ำหรือปกติ : ในโรคต้อหินชนิดนี้ เส้นประสาทตาจะถูกทำลายไปถึงแม้ว่าความดันภายในลูกตามีค่าปกติ แพทย์จะสั่งยาเพื่อลดความดันภายในลูกตาของลงประมาณ 30% ของความดันตาปกติ เนื่องจากยานี้สามารถชะลอการสูญเสียการมองเห็นในผู้ป่วยบางรายได้ ทั้งนี้โรคต้อหินชนิดนี้อาจะรุนแรงขึ้นแม้ว่าจะได้รับการรักษาแล้วก็ตาม โรคต้อหินชนิดมุมปิด : หรือเรียกว่าโรคต้อหินชนิดมุมแคบ ซึ่งโรคต้อหินประเภทนี้มักจะต้องการการรักษาที่ค่อนข้างจะฉุกเฉิน เมื่อเกิดการอุดตันทางไหลเวียนของของเหลวในลูกตาบริเวณม่านตา ความดันภายในลูกตาจะขึ้นสูงในระยะเวลาอันรวดเร็วเมื่อของเหลวภายในลูกตาไม่สามารถระบายออกได้ โรคต้อหินชนิดนี้มักจะมีอาการปวดตามากและคลื่นไส้อาเจียน รวมถึงตาของคุณจะแดงมากขึ้นและมองเห็นภาพมัวลง เมื่อเกิดอาการนี้ขึ้น ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาลหรือคลินิก หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นในตาข้างที่เป็นได้ National Eye Institute รายงานว่า โดยส่วนใหญ่การรักษาด้วยแสงเลเซอร์และยาสามารถช่วยลดการอุดตัน ลดความดันภายในลูกตา และฟื้นฟูการมองเห็นได้ โรคต้อหินแต่กำเนิด : มีความเป็นไปได้ที่เด็กแรกคลอดจะเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติของมุมในลูกตาได้ ซึ่งจะทำให้ของเหลวในตาไม่สามารถไหวเวียนได้อย่างปกติ อาการของโรคต้อหินแต่กำเนิดนี้มักจะเห็นได้ชัด เด็กที่มีอาการนี้มักจะมีตาที่ขุ่นมัว สู้แสงไม่ได้ หรือมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ กุมารแพทย์มักจะแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกตินี้ วิธีผ่าตัดแก้ไขนี้ปลอดภัยและได้ผลดี ถ้าได้รับการผ่าตัดนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ อยู่ เด็กก็มีโอกาสที่ดีในการมองเห็น
เข้าชม : 236
|