[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

แลกเปลี่ยนเรียนรู้
วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) คืออะไร
โดย : ดร. สมกิต   เมื่อวันที่ : เสาร์ ที่ 20 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2560   


วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) คืออะไร

www.honestdocs.co/tuberculosis

www.honestdocs.co

วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อทางอากาศ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) โดยทั่วไปแล้วผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคมักไม่แสดงอาการใด ๆ แต่ตัวโรคจะดำเนินต่อไป โดยแบ่งเป็นสามระยะ ได้แก่
•  การติดเชื้อระยะแรก (Primary TB Infection)
•  การติดเชื้อระยะแฝง (Latent TB Infection)
•  ระยะแสดงอาการหรือระยะกำเริบ (Active Disease)
ผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะแฝง (Latent TB Infection) ในระยะนี้จะยังมีเชื้อวัณโรคอยู่ในร่างกาย แต่ตัวเชื้อจะอยู่นิ่ง ไม่ทำปฏิกิริยาใด ๆ กับร่างกาย ผู้ที่ติดเชื้อในระยะนี้จึงไม่มีอาการใด ๆ และจะไม่แพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อในระยะแฝงนั้นอาจเปลี่ยนเป็นระยะกำเริบ (Active Disease) ได้ในหลายกรณี เช่น คนที่เพิ่งได้รับเชื้อวัณโรคมาไม่เกินสองปีมักเป็นการติดเชื้อระยะกำเริบ นอกจากนี้คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่กำลังรับประทานยากดภูมิ หรือกำลังล้างไตอยู่) ก็มีโอกาสที่เชื้อวัณโรคจะกำเริบได้ง่ายเช่นกัน
ถึงแม้ว่าวิธีการรักษาวัณโรคในปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพสูง แต่หลายครั้งที่การติดเชื้อวัณโรคอาจทำให้เกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ กรมควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention; CDC) ได้รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อวัณโรคมากกว่า 1 ล้านคนต่อปีทั่วโลก
นอกจากเชื้อ ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) แล้ว วัณโรคอาจเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรียอีกสายพันธุ์ ชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียม โบวิส (Mycobacterium Bovis) เชื้อนี้พบได้ในสัตว์บางชนิด ด้วยเหตุนี้ เด็กที่ดื่มนมวัวที่ยังไม่ผ่านการฆ่าเชื้ออาจติดเชื้อวัณโรคสายพันธุ์นี้ได้ อย่างไรก็ตาม ในประเทศพัฒนาที่แล้ว วัวทุกตัวจะถูกตรวจสอบว่าติดเชื้อวัณโรคหรือไม่ และนมส่วนใหญ่ก็ได้รับการฆ่าเชื้อแล้วเช่นกัน
จำนวนผู้ติดเชื้อวัณโรคในทวีปต่าง ๆ
ตั้งแต่ปีค.ศ. 1800 เป็นต้นมาการติดเชื้อวัณโรคเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประเทศอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อยาสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายหลังจากถูกคิดค้นขึ้นในปีค.ศ.1940 พบว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงมาก
ในปัจจุบัน การติดเชื้อวัณโรคสามารถพบได้มากที่สุดในทวีปแอฟริกา เอเชีย และภูมิภาคด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก
จากการเก็บสถิติของกรมควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกาในปี 2013 พบว่า
•  หนึ่งในสามของประชากรโลกติดเชื้อวัณโรค
•  มีประชากร 9 ล้านคนทั่วโลกป่วยจากการติดเชื้อวัณโรค
•  มีประชากร 1.5 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากการติดเชื้อวัณโรค
•  ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีเสียชีวิตมากที่สุดจากการติดเชื้อวัณโรค
การแพร่กระจายของวัณโรค
เชื้อวัณโรคสามารถติดต่อทางการหายใจ หมายความว่า เชื้อวัณโรคสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ โดยเกิดจากการที่ผู้ติดเชื้อวัณโรคในระยะกำเริบ ไอ จาม หรือพูด ทำให้มีละอองฝอยเล็ก ๆ ที่มีเชื้อ ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) แฝงอยู่ลอยมาในอากาศ เชื้อนี้สามารถลอยอยู่ในอากาศได้หลายชั่วโมง และผู้ที่สูดอากาศส่วนนี้เข้าไปก็จะได้รับเชื้อวัณโรค ผู้ป่วยวัณโรคในระยะกำเริบที่พบในประเทศสหรัฐอเมริกา มักเป็นผู้ป่วยที่ย้ายมาจากประเทศอื่นที่เป็นแหล่งวัณโรคชุกชุม
อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่หายใจรับเชื้อวัณโรคจะต้องป่วยเป็นวัณโรคทุกคน โดยทั่วไปเมื่อร่างกายรับเชื้อวัณโรคแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันจะสามารถกำจัดเชื้อวัณโรคไปได้จนหมด แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น เชื้อวัณโรคจะแฝงอยู่ในร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ เรียกว่าเป็นการติดเชื้อระยะแฝง
ปัจจัยเสี่ยงการเป็นวัณโรค
เมื่อต้องสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลที่ติดเชื้อวัณโรคระยะกำเริบ หรือมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงจากสาเหตุต่าง ๆ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อวัณโรคทั้งสิ้น
ปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่พบได้ มีดังนี้
•  ความยากจน
•  การติดเชื้อเอชไอวี
•  การเป็นบุคคลเร่ร่อน
•  การต้องโทษจำคุก
•  การใช้สารเสพติด
สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ นอกเหนือจากการติดเชื้อเอชไอวี เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ผู้ป่วยที่กำลังล้างไตอยู่ ผู้ป่วยที่เคยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะและกำลังรับประทานยากดภูมิคุ้มกันอยู่ เป็นต้น
การป้องกันวัณโรค
เพื่อป้องกันไม่ให้วัณโรคแพร่กระจายในสถานพยาบาล กรมควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกาจึงได้ออกหลักเกณฑ์ให้ตรวจคัดกรองหาเชื้อวัณโรคในบุคลากรการแพทย์ทุกคน โดยตรวจตั้งแต่ก่อนรับเข้าทำงาน และตรวจติดตามต่อเนื่องทุกปี
นอกจากสถานพยาบาลแล้ว ที่พักอาศัยบางแห่งก็มีการตรวจหาเชื้อวัณโรค เช่น บ้านพักคนชรา สมาชิกที่จะย้ายเข้ามาใหม่ทุกรายต้องได้รับการตรวจหาเชื้อวัณโรค
การถ่ายภาพรังสีทรวงอกเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการตรวจหาวัณโรคระยะกำเริบ นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่ป้องกันไม่ให้เชื้อวัณโรคแพร่กระจายได้ เช่น
•  ทำให้อากาศในอาคารถ่ายเทสะดวก เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคในอาคาร
•  ติดตั้งแสงอัลตราไวโอเล็ตในบริเวณที่บุคคลซึ่งอาจมีเชื้อวัณโรคอยู่รวมกัน เพื่อฆ่าเชื้อวัณโรคในอากาศ
•  รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคในระยะแฝงให้หายขาด ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นการติดเชื้อในระยะกำเริบ
วัคซีนป้องกันการติดเชื้อวัณโรค
ในประเทศที่พบผู้ติดเชื้อวัณโรคมากมักจะใช้วัคซีน BacilleCalmette-Guerin หรือ บีซีจี (BCG) เพื่อป้องกันการติดเชื้อวัณโรคชนิดรุนแรง เช่น การติดเชื้อวัณโรคที่เยื่อหุ้มสมอง แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกามักจะไม่ใช้วัคซีนชนิดนี้แต่จะป้องกันโดยรักษาวัณโรคระยะแฝงด้วยยาไอโซไนอะซิด (Isoniazid) แทน เพราะพบว่าการรักษาด้วยยาสามารถป้องกันการแพร่กระจายโรคได้ดีกว่า และการฉีดวัคซีนบีซีจีไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อวัณโรคได้ดีเท่าที่ควร



เข้าชม : 182





Re หัวข้อ :
รูปประกอบ : Limit 100 kB
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
รายละเอียด :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้
ชื่อของท่าน :


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอโพธิ์ตาก
อำเภอโพธิ์ตาก  จังหวัดหนองคาย 0-4248-3258 , Fax  0-4248-3258 
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายจักรพงษ์ จุลสราญพงษ์, นายศุภกิตติ์ ถาวร