กลับมาอีกครั้งเป็นเรื่องต่อเนื่องที่ sanook money ตั้งใจนำมาเสนอให้กับแฟนๆ เกี่ยวกับความรู้เรื่องภาษีและการบริหารรายได้บริหารเงิน เพื่อให้เกิดประโยชน์เป็นภาระต่อภาษีน้อย ที่สุด ครั้งนี้เป็นตอนที่ 2 เราจะมาดูกันว่า คนทำงาน หรือ มนุษย์เงินเดือน ซึ่งเป็นฐานที่ใหญ่ที่สุดของระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะสามารถลดภาระ หรือลดหย่อนภาษีได้จากอะไรได้บ้าง ..เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนการลงทุนการใช้เงิน การออม ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกันครับ
ตอนแรก เราได้ทราบกันแล้วว่า ใครบ้างต้องมีหน้าที่เสียภาษี และมีเงินเดือนหรือรายได้อย่างน้อยเท่าไรจึงต้องเสียภาษี โดยสรุปสั้นๆอีกครั้ง คือ กฎหมายกำหนดให้คนที่ทำงานมีรายได้ ที่มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จึงจะมีภาระต้องเสียภาษีตามอัตราโครงสร้างที่กฎหมายกำหนด (ดูรายละเอียดจากบทความ “รู้ยัง! ทำงานมีรายได้ ต้องจ่ายภาษีหรือไม่อย่างไร...?”)
กลับมาเรื่องมนุษย์เงินเดือน สามารถลดหย่อนภาษีจากอะไรได้บ้าง ....เพื่อให้ชัดเจน จะแยกกรณีสำหรับคนโสด และคนที่สมรส ให้เพื่อเป็นแนวทางนะครับจะได้ทราบว่าใครสามารถหักลดหน่อยอะไรได้บ้างเผื่อ ว่า คนที่รอตัดสินใจแต่งงานมีคู่ จะตัดสินใจได้ว่าจะแต่งดีไม่ดี.......
กรณีคนโสด
1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 30,000 บาท คือ ค่าลดหย่อนสำหรับคนมีเงินได้ทุกคนที่ยื่นแบบแสดงรายการฯ
2. ประกันสังคม ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
3. เงินสมทบ กบข. และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 500,000 บาท เงินสมทบกบข. (สำหรับข้าราชการ) และเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (สำหรับเอกชน) สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
4. ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา คนละ 30,000 บาท สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท
(ค่าลดหย่อนเหล่านั้นเป็นค่าลดหย่อนพื้นฐานโดยทั่วไป ซึ่งทุกคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนน่าจะได้สิทธิทั้งหมด เพราะการเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม และสำรองเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนพื้นฐานที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์เงินเดือน) และ สำหรับการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคตที่นำมาลดหย่อนภาษีได้ยังมีอีก มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
5. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จำนวน 100,000 บาท ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เราจ่ายไปเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดเพื่ออยู่อาศัย โดยสามารถหักได้ตามที่จ่ายไปจริง ในจำนวนเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
6. เบี้ยประกันชีวิต
-ประกันชีวิต (แบบทั่วไป) ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
-ประกันชีวิต (แบบบำนาญ) ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
-เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ลดหย่อนได้สูงสุดถึง 15,000 บาท
7 กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ สูงสุด 500,000 บาท (โดยการลงRMF เมื่อนำไปรวมกับเงิน กบข.และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ ประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท)
8. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ สูงสุด 500,000 บาท (เงื่อนไขเหมือนกันกับRMF)
9. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อที่อยู่อาศัย จำนวน 100,000 บาท ส่วนนี้ได้ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านและคอนโดฯ โดยสามารถหักได้ตามที่จ่ายไปจริง ในจำนวนเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
10. เงินบริจาค
- เงินบริจาค เพื่อสนับสนุนการศึกษา สามารถหักลดหย่อนได้เป็น 2 เท่าของเงินที่ได้จ่ายไป แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
- เงินบริจาคทั่วไป สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือหลังหักลดหย่อนและยกเว้นกรณีอื่นๆทั้งหมดแล้ว
11. ค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ 60,000 บาท หากเราเป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
กรณีสมรส
กรณีสมรส โดยหลักจะต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ซึ่งจะได้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเหมือนคนโสด ทั้ง 11 กรณี แต่จะมีสิทธิเพิ่มเติม คือ
1. ค่าใช้จ่ายส่วนตัวคู่สมรส ในการยืนแบบฯหากคู่สมรสไม่มีรายได้สามารถนำมาคำนวณยืนแบบได้เลย แต่หาก คู่สมรสมีรายได้ต้องยื่นแบบฯ สามารถแยกหักค่าใช้จ่ายส่วนตัว จำนวน 30,000 บาทได้
2 ค่าลดหย่อนบุตร 15,000 บาท และ ค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร 2,000 บาท หักค่าใช้จ่ายบุตรตามอายุได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน โดยบุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี แต่ถ้าอายุอยู่ในระหว่าง 21-25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
3 ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา คนละ 30,000 บาท เราสามารถนำค่าเลี้ยงดู บิดา มารดา ของคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้เช่นเดียวกัน หากคู่สมรสไม่มีรายได้นะครับ
ทั้งหมดคือ ค่าลดหย่อนภาษี ที่เราสามารถนำมาหักลดหย่อนได้ทั้งหมด รับรองว่า หากหักลดหย่อนครบทุกข้อที่เรามีสิทธิ ได้สิทธิคืนภาษีที่ถูกหักไปอย่างแน่นอน
อ่านบทความเกี่ยวข้อง