ผมเชื่อว่าช่วงชีวิตของผู้อ่าน Blognone ทุกคนก็คงผ่านวันเวลาอันยาวนานของ XP กันหมด ลองหลับตา 1 นาทีระลึกว่า ตลอด 12 ปีที่ผ่านมานี้ ชีวิตของคุณมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง (เปลี่ยนโรงเรียน เข้ามหาวิทยาลัย ทำงาน ย้ายงาน แต่งงาน มีลูก ฯลฯ) ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตคงมหาศาล
แต่ถ้าเรายังใช้ Windows XP คอมพิวเตอร์ของเราก็ยังถูกผนึกค้างไว้ที่ปี 2001 อยู่ ถึงแม้ช่วงเวลาที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์จะมีอัพเดตให้บ้าง 3 service packs แต่หลักใหญ่ใจความแล้ว มันก็คือระบบปฏิบัติการของปี 2001 อยู่ดี
คอมพิวเตอร์ประกอบด้วยฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ในฝั่งของฮาร์ดแวร์คงไม่ต่างอะไรจากเครื่องใช้ไฟฟ้า ถ้ามันไม่พังก็ใช้ต่อไปได้เรื่อยๆ
แต่ฝั่งของซอฟต์แวร์นี้มี "อายุขัย" ของมัน (เหมือนกับนมบูด ปลากระป๋องเน่า) ถึงแม้ตัวซอฟต์แวร์จะใช้ต่อไปได้ก็จริง (และไม่มีใครไปกำหนด deadline ว่าหลังจากวันนี้แล้วห้ามใช้) แต่ "บริการแวดล้อม" ของตัวซอฟต์แวร์นั้นๆ มันไม่ได้อยู่ต่อไปชั่วกาลอวสานไปด้วย
"บริการแวดล้อม" ที่ว่านี้ หลักๆ แล้วมันคือการอัพเดตแพตช์ความปลอดภัย บริการหลังขาย และความเข้ากันได้ของซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่ๆ
ไมโครซอฟท์มีนโยบายเรื่องการอัพเดตแพตช์ที่แบ่งเป็น 2 ระดับคือ mainstream support และ extended support (อ้างอิง)
Windows XP หมดระยะ mainstream support ตั้งแต่ปี 2009 และกำลังจะหมดระยะ extended support ในปี 2014
จะเกิดอะไรขึ้นหลังไมโครซอฟท์หยุดออกแพตช์ความปลอดภัย
คนที่เข้าใจการทำงานของระบบความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ คงทราบดีว่าปัญหาเรื่อง "รูรั่ว" หรือช่องโหว่ความปลอดภัย เป็นเกมแมวจับหนูที่ไม่มีวันจบสิ้น เพราะตอนสร้างซอฟต์แวร์ขึ้นมา คนสร้างก็ไม่รู้หรอกว่ามันมีช่องโหว่ตรงไหนบ้าง ดังนั้นเมื่อซอฟต์แวร์วางขายแล้ว ทั้งคนในคนนอก ไม่ว่าจะหวังดีหรือประสงค์ร้าย ก็มีหน้าที่ค้นหาช่องโหว่เหล่านี้ ฝั่งของไมโครซอฟท์เองก็มีหน้าที่อุดช่องว่างเหล่านี้ไปเรื่อยๆ เท่าระยะเวลาที่สัญญาไว้
ในกรณีของ Windows XP จะไม่มีอัพเดตแพตช์ใดๆ หลังวันที่ 8 เมษายนนี้ แต่ Windows รุ่นอื่นๆ ที่ใหม่กว่าจะยังได้อัพเดตแพตช์ต่อไป
เมื่อ Windows เป็นระบบปฏิบัติการที่มีพื้นฐานเดียวกัน ชิ้นส่วนบางชิ้นก็ตกทอดสืบเนื่องกันมานานหลายชั่วคน ดังนั้นมีโอกาสสูงที่จะพบช่องโหว่สักแห่งมีผลกับ Windows ทุกรุ่น
ถ้าหากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น ไมโครซอฟท์จะอุดช่องโหว่บน Windows รุ่นใหม่ๆ แต่ไม่อุดรูเดียวกันบน Windows XP แบบนี้ก็เสร็จโจรสิครับ (ช่องโหว่แบบนี้เรียกว่า zero-day attack)
สิ่งที่แฮ็กเกอร์จะทำคือโหลดแพตช์ของ Windows รุ่นใหม่ๆ มาแกะดูว่า ไมโครซอฟท์อุดรูอย่างไร จากนั้นก็ reverse engineer เขียนมัลแวร์ที่อาศัยช่องโหว่เดียวกันไปเจาะ Windows XP ได้แบบง่ายๆ เลย (จากเดิมที่ต้องงมหาช่องโหว่เอง ก็เปลี่ยนเป็นลอกการบ้านไมโครซอฟท์แทน ง่ายกว่ากันเยอะ)
ไมโครซอฟท์เคยออกมาเตือนเรื่องนี้อย่างเป็นทางการแล้ว ย้อนอ่านในข่าวเก่า
ช่องโหว่ลักษณะนี้มีโอกาสสูงที่จะป้องกันไม่ได้ด้วยแอนตี้ไวรัสหรือซอฟต์แวร์ความปลอดภัยต่างๆ (อาจสกรีนได้บ้างที่ระดับของไฟร์วอลล์) เพราะเป็นช่องโหว่ของตัวระบบปฏิบัติการโดยตรงนั่นเอง
เก่ากว่า เสี่ยงกว่า
เวลา 12 ปีเปลี่ยนบิล เกตส์ จากหนุ่มเฟี้ยวเป็นชายกลางคน เส้นผมเริ่มสีเทา ช่วงเวลาเดียวกันนี้ โลกของความปลอดภัยก็พัฒนาไปมาก มีเทคนิคและกระบวนการมากมายที่ช่วยปกป้องให้ระบบปฏิบัติการปลอดภัยมากขึ้น
ผมขออ้างข้อมูลของไมโครซอฟท์เอง (Microsoft Security Blog) ที่บอกว่า Windows แต่ละรุ่นมีพัฒนาการด้านความปลอดภัยที่ดีขึ้นอย่างไร (คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็ม)
และข้อมูลสถิติว่า Windows แต่ละรุ่นโดนเจาะหรือติดมัลแวร์-ไวรัสต่างกันมากน้อยแค่ไหน (มีถึงเฉพาะ Windows 7)
ช่างมันฉันไม่แคร์
ผู้ใช้ Windows XP จำนวนไม่น้อย (โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ของเถื่อน) ปิดการอัพเดต Windows เพื่อป้องกันปัญหา Windows Genuine Advantage (WGA) และไม่ได้แคร์เรื่องความปลอดภัยของระบบปฏิบัติการอยู่แล้ว
ถ้าเป็นคอมส่วนตัวใช้เอง แบกรับปัญหาเองได้ รับผิดชอบเองเป็น (ซึ่งเวลาเกิดเหตุแล้วมักจะไม่เป็นเช่นนั้น :P) อันนั้นก็ถือเป็นเรื่องอิสระในการใช้ชีวิตของปัจเจกชน
แต่ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ขององค์กร ห้างร้าน หน่วยงานต่างๆ ความเสี่ยงพวกนี้ถือเป็นภาระความรับผิดชอบและ "หน้าที่" ของฝ่าย IT support ที่จะต้องป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น
คนใช้ Windows XP ยังมีเยอะแค่ไหนในไทย?
ในตลาดโลก สถิติล่าสุดจาก Net Applications ระบุว่ามีคนใช้ Windows XP อยู่ที่ 28.98% ของระบบปฏิบัติการของพีซี ซึ่งถือว่ายังเยอะมาก (นับเฉพาะเครื่องคอมที่ต่อเน็ต)
สำหรับในเมืองไทย ข้อมูลที่ผมหาได้มี 2 แหล่งที่มา
แห่งแรกคือ StatCounter บอกว่าสถิติล่าสุดของไทย มีคนใช้ Windows XP เหลืออยู่ 28.89% (มกราคม 2014) ส่วนกราฟสถิติช่วง 1 ปีย้อนหลังของผู้ใช้เน็ตไทย เห็นแนวโน้มชัดเจนว่า Windows XP ลดลงตลอดแต่ก็ยังเหลือผู้ใช้อยู่อีกเป็นจำนวนมาก
อีกเจ้าคนไทยคุ้นเคยกันดี สถิติของ TrueHits บอกว่าเดือนธันวาคม 2013 คนไทยใช้ XP ที่ 22.19% ซึ่งแนวโน้มก็ลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน
ความเสี่ยงของการใช้ Windows XP ที่หมดอายุแล้ว
มีบทความ-รายงาน-บทวิเคราะห์จำนวนมากที่พูดถึงปัญหาของการใช้งาน Windows XP ที่หมดอายุแล้ว ผมขออ้างอิงรายงานของ Lenovo ที่พาดหัวไว้ซะน่ากลัวว่า Windows XP – A Compliance and Risk Nightmare in April 2014 ซึ่งแบ่งปัญหาออกเป็น 3 ข้อ
- ความเสี่ยงทางเทคนิคที่จะโดนโจมตีผ่านช่องโหว่ความปลอดภัย (ตามที่อธิบายไปแล้วข้างต้น)
- ความเสี่ยงที่จะถูกจารกรรมข้อมูล แล้วองค์กรโดนปรับหรือโดนฟ้อง (บางประเทศมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลของลูกค้า ทำหายแล้วโดนปรับ)
- ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบไอทีในระยะยาวจะเพิ่มสูงมาก การบำรุงรักษาระบบปฏิบัติการเก่ามีต้นทุนระยะเวลาสูงกว่าระบบปฏิบัติการใหม่ๆ ที่มีความพร้อมกว่าในทุกด้าน
ผมเชื่อว่าของพวกนี้ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตาครับ อีกไม่นานเราคงเห็น "การโจมตี Windows XP ครั้งใหญ่" ที่สร้างผลสะเทือนในวงกว้าง ซึ่งจะกลายเป็นจุดเปลี่ยน กระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ หันมาสนใจปัญหานี้ (แต่ระหว่างนั้นจะโดนลูกหลงด้วยหรือไม่ ก็ขึ้นกับความใส่ใจขององค์กรแล้ว)
ความเข้ากันได้ของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์
นอกจากปัญหาเรื่องช่องโหว่ความปลอดภัยแล้ว เราก็คงรู้กันดีว่า ยังมีเรื่องความเข้ากันได้กับฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่ๆ ที่ไม่มีไดรเวอร์ของ XP แล้ว และซอฟต์แวร์ชื่อดังหลายตัวก็แทบไม่รองรับ XP แล้วเช่นกัน
ผมลองรวมข้อมูลแบบคร่าวๆ ดูว่า ซอฟต์แวร์อะไรบ้างที่รองรับหรือไม่รองรับ XP
ทางออก
คำตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ อัพเกรดครับ เปลี่ยนไปใช้อะไรก็ได้ที่ใหม่กว่า Windows XP จะย้ายค่ายไปใช้แมคหรือลินุกซ์ก็ไม่มีปัญหา
คำตอบแบบละเอียดแยกตามกรณี
1. ผู้ใช้ตามบ้าน
สำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่มีคอมพิวเตอร์ของตัวเองและรัน Windows XP แยกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ
1.1 ใช้ Windows XP เพราะคอมเก่า
ถึงแม้สเปกขั้นต่ำของ Windows แทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยนับจาก Vista เป็นต้นมา แต่มันก็ยังมีช่องว่างของฮาร์ดแวร์ขั้นต่ำสำหรับ XP และ Vista ขึ้นไปอยู่
สำหรับคนกลุ่มที่ยังใช้คอมสเปกต่ำกว่า Vista (แต่ยังรัน XP ได้) ผมแนะนำว่าซื้อคอมใหม่สถานเดียวครับ คอมสมัยนี้ถูกกว่าเดิมมากแล้ว เงินหลักต่ำหมื่นก็ซื้อคอมสเปกดีๆ ได้สบาย แถมคอมตัวเก่าก็น่าจะคุ้มการลงทุนแล้ว ถ้ายังอยากเก็บไว้ใช้จริงๆ ก็แนะนำให้เปลี่ยนเป็นลินุกซ์แทน (แต่เอาจริงแล้วลินุกซ์ที่รันบนฮาร์ดแวร์ต่ำขนาดนั้นได้ก็ไม่ค่อยมีอีกเหมือนกัน)
สำหรับคนที่ไม่ชัวร์ว่าคอมของเราจะย้ายไปรัน Windows 7 ได้หรือไม่ (Windows 8.x ใช้สเปกเท่ากัน) ไมโครซอฟท์มีโปรแกรมช่วยวิเคราะห์ชื่อ Windows 7 Upgrade Advisor สามารถดาวน์โหลดมารันกันเล่นๆ ได้
1.2 ใช้ Windows XP เพราะคุ้นมือ
ผู้ใช้กลุ่มนี้มีคอมพิวเตอร์ที่สามารถเปลี่ยนไปใช้ Windows รุ่นใหม่กว่าได้ แต่ไม่เปลี่ยนด้วยเหตุผลที่ต่างๆ กันไป (ส่วนใหญ่เป็นเพราะคุ้นเคยกับ XP) คำแนะนำคือ "ถึงเวลาต้องอัพเกรด" แล้วครับ
ทางเลือกเดียวที่เด่นชัดในตอนนี้คือ ควักเงิน 5-6 พันบาทซื้อ Windows 8.1 ของแท้ จ่ายเงินทั้งทีก็ควรเลือกซอฟต์แวร์ใหม่ที่สุด (แต่ถ้ายังเลือกจะอยู่ในเส้นทางสายมืด อย่างน้อยอัพเกรดเป็น Windows 7 เถื่อนก็ยังดีกว่า XP เถื่อนอยู่ดีครับ)
การอัพเกรดจาก XP เป็นระบบปฏิบัติการใหม่ๆ อย่าง Windows 8.1 ไม่สามารถอัพเกรดได้ตรงๆ จำเป็นต้องแบ็คอัพข้อมูลแล้วลงโปรแกรมใหม่ ซึ่งมีต้นทุนเรื่องเวลาและทรัพยากรเพิ่มเข้ามา แต่มันก็เป็นเส้นทางที่ต้องข้ามผ่านครับ
2. ลูกค้าองค์กร
สำหรับลูกค้าองค์กรที่มักใช้ระบบปฎิบัติการที่ติดมากับพีซี ตรงนี้เป็นหน้าที่ของฝ่าย IT ในองค์กรที่จะต้องผลักดันให้ CIO/CEO ขององค์กรเห็นความสำคัญของการ "อัพเกรดฮาร์ดแวร์ใหม่" ครับ
ส่วนจะซื้อพีซี Windows 7 หรือ Windows 8.x คงขึ้นกับนโยบายของแต่ละหน่วยงาน (ไมโครซอฟท์เองก็เคยพูดไว้ว่า ถ้ายังไม่พร้อมสำหรับ Windows 8.x ก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยก็ควรรัน Windows 7 ขึ้นไป)
นอกจากนี้ในองค์กรที่มีความซับซ้อนของแอพพลิเคชันไม่เยอะ หรือแอพพลิเคชันส่วนใหญ่เป็นเว็บเบส จะเปลี่ยนไปใช้ระบบปฏิบัติการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแมค ลินุกซ์ หรือ Chrome OS ก็คงไม่เป็นปัญหาอะไรมากนัก
อีกประเด็นที่สำคัญสำหรับการอัพเกรดคือ แอพพลิเคชันขององค์กร (ที่เขียนกันมาตั้งนานแล้ว สมัยพีซีเอื้ออาทร) ยังใช้ได้เฉพาะบน Windows XP เท่านั้น อันนี้ไม่มีทางเลือกนอกจากการจ่ายเงินเพื่อปรับปรุงแก้ไขหรือเปลี่ยนแอพพลิเคชันใหม่ เป็นเรื่องของ mindset ผู้บริหารว่านี่คือการลงทุนเพื่อระบบไอทีที่ก้าวหน้าขึ้นในอนาคต ไม่เป็นคอขวดหรือภาระขององค์กร มันไม่ใช่การสิ้นเปลืองซื้อคอมใหม่สเปกแรงหรือระบบไอทีแพงๆ ตามแฟชั่นแต่อย่างใด
ผมคิดว่าระบบไอทีภายในองค์กรที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ยุค 2000 ต้นๆ (โดยเฉพาะกลุ่มที่เขียนเองหรือจ้างเขียน ไม่ได้ซื้อสำเร็จ) น่าจะเริ่มล้าสมัยหรือเจอข้อจำกัดกันบ้างแล้ว บวกกับโลกไอทีปัจจุบันกำลังเปลี่ยนรอบของเทคโนโลยีพอดี (แอพที่เคยถูกสร้างมาสำหรับ IE6 คงไม่สามารถรันบน iPad ได้แน่ๆ) ดังนั้นก็น่าจะถือโอกาสยกเครื่องระบบไอทีหรือแอพพลิเคชันภายในให้ทันสมัยขึ้นไปพร้อมๆ กัน (อาจจะเป็นแอพพลิเคชันบนเว็บ หรือระบบเดสก์ท็อปแบบ virtualized/VDI ก็ได้)
ในรายละเอียดแล้ว การอัพเกรดระบบไอทีขององค์กรจากยุค XP มาเป็นยุค Windows 7/8 ไม่ใช่เรื่องง่าย มีเรื่องจุกจิกหยุมหยิมอีกพอสมควร (แล้วทวีคูณความยากลำบากด้วยจำนวนเครื่องที่มี) ซึ่งคงไม่สามารถลงรายละเอียดได้ในบทความนี้ แต่สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากลิงก์ข้างล่าง
บทสรุป: ความเจ็บปวดที่ต้องก้าวผ่าน
ผมเข้าใจคนที่ยังใช้ XP อยู่ในตอนนี้ว่า ใจจริงก็อยากเปลี่ยนแหละนะ แต่ติดขัดว่าต้องจ่ายเงินเพิ่ม (ซื้อคอมใหม่หรือไลเซนส์ใหม่ และอัพเกรดแอพพลิเคชันองค์กรใหม่ในกรณีคอมองค์กร) และต้องปรับตัวฝึกการใช้งานระบบปฏิบัติการใหม่ๆ อีกมาก
แต่มันไม่มีทางเลือกครับ ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบดั้งเดิมที่ใช้กันไปจนพัง แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของ "โซลูชันทางไอที" ที่มีต้นทุนค่าบำรุงรักษาอยู่ตลอดเวลา วันนี้ได้เวลาควักเงินอีกก้อนเพื่อต่ออายุโซลูชันสำหรับอีก 5-10 ปีข้างหน้าแล้ว
นาฬิกานับถอยหลังไปเรื่อยๆ แล้วครับ